Sunday, September 26, 2010

ตาน ฉ่วย เมื่อพยัคฆ์อยากลงจากหลังเสือ

ในวัฏแห่งอำนาจของจอมเผด็จการ ไม่ว่าจะอยู่ในซอกหลืบไหนบนโลกใบนี้ ย่อมหนีไม่พ้นการเวียนว่ายอยู่กับการแสวงหาอำนาจ เกาะกุมรักษาอำนาจ และสุดท้ายคือการก้าวลงจากอำนาจ


มีคำกล่าวกันว่า การแสวงหาอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นนับว่ายาก แต่ยากยิ่งกว่าคือการธำรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดที่ว่านั้น

ผมอยากเพิ่มเติมต่อไปว่า แต่ที่ยากเย็นแสนเข็ญที่สุดก็คือ ทำอย่างไรถึงจะก้าวลงจากอำนาจได้อย่างสง่างามและปลอดภัย

บทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของโลก ไม่ว่าจะย้อนหลังไปไกลแค่ไหน หรือไล่เรียงผู้มีชื่อเสียงระบือในเชิงเผด็จการทั้งหลายออกมาดูกัน ล้วนบอกกับเราชัดเจนว่ามีน้อยรายนักที่จอมเผด็จการจะสามารถก้าวลงจากหลัง เสือได้อย่างงดงาม และเก็บเกี่ยวประโยชน์จากอำนาจที่แสวงหาและรักษามาตลอดทั้งชีวิตได้อย่าง สมบูรณ์ อำนาจยิ่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเท่าใด ยิ่งบิดเบือน กดขี่มากเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งบิดเบือน กดขี่มากเท่าใด แรงดีดสะท้อนเมื่อมีโอกาสตอบโต้กลับยิ่งทบเป็นเท่าทวีคูณ

นี่คือเหตุผลที่ว่า เมื่อจำต้องก้าวลงจากหลังเสือ คือห้วงเวลาที่การบิดเบือนแห่งอำนาจเกิดขึ้นสูงสุด-เสมอ

ภายใต้กรอบความคิดนี้ วิถีของ "ตาน ฉ่วย" นายพลอาวุโสแห่งกองทัพพม่า ผู้นำสูงสุดที่กุมชะตากรรมของผู้คนมากกว่า 50 ล้านคน ในพม่าน่าสนใจอย่างยิ่งยวด

นี่คือ "ตาน ฉ่วย" ผู้ซึ่งไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองเผด็จการที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด ในโลกในเวลานี้เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่ออกคำสั่งเข่นฆ่าสังหารพระสงฆ์ในระหว่างการลุกฮือครั้งใหญ่ เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมาชนิดดวงตายังไม่กะพริบ

และนี่คือ คนที่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติต่อผู้ประสบภัยไซโคลนนาร์กิสที่ตกอยู่ ในภาวะเป็นตายเท่ากันนับแสนนับล้าน ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อรอเวลาให้การลงประชามติภายใต้การกำกับของทางการแล้ว เสร็จตามกำหนดเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ตาน ฉ่วย คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในพม่าเวลานี้ก็จริง แต่เป็นคนที่ชาวพม่าเกลียดและกลัวมากที่สุดอย่างแท้จริงอีกด้วยเช่นกัน

พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (เอสพีดีซี) องค์กรปกครองสูงสุดภายใต้กรอบและแนวทางแบบทหารของพม่าผู้นี้ ลาออกจากตำแหน่งสุดท้ายในกองทัพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บางคนบอกว่านั่นเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของการเตรียมการเพื่อก้าวลงจาก อำนาจของผู้นำอำมหิตรายนี้ แต่อีกบางคนเชื่อว่านั่นคือการเตรียมการเพื่อผ่องถ่ายอำนาจจากกองทัพมาสู่ พลเรือน แต่ไม่เปลี่ยนตัวบุคคล เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการให้อยู่ภายใต้อุ้งมือของ "ตาน ฉ่วยและพวก" อย่างต่อเนื่องต่อไป

อาจบางทีข้อสันนิษฐานทั้งสองอย่างคืออย่างเดียวกัน เพราะนี่คือการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนสูงสุดเป็นครั้งสุดท้ายของ ตาน ฉ่วย เพียงเพื่อได้สุขสงบในบั้นปลาย

เพราะรู้ดีว่ามีหลายคนมากไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น!

ตาน ฉ่วย เกิดเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1933 ที่ จ็อกเส เมืองเล็กในแขวง (จังหวัด) มัณฑเลย์ พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามที่สุดตอนกลางด้านล่างของประเทศ พม่า ตอนที่ตาน ฉ่วย ลืมตาดูโลกนั้น พม่ายังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษที่เรียก รวมกันว่า "บริติช อินเดีย"


ตานดาร์ ฉ่วย กับ พันตรี ซอ คู่สมรส

เรียนหนังสือในโรงเรียนหลวง แต่ไม่จบมัธยม จะลาออกหรือถูกไล่ออกกลางคันด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดไม่ปรากฏ

ตาน ฉ่วย หาเลี้ยงชีพด้วยการสมัครเป็นพนักงานไปรษณีย์ ทำงานจนได้เป็นเสมียน
เมื่ออายุครบเกณฑ์ ตาน ฉ่วย หนุ่ม โดนทหาร ถูกส่งไปประจำในกองทัพอาณานิคมพม่า สังกัดหน่วยงาน "ปฏิบัติการจิตวิทยา" พื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่คือภาคตะวันออกของประเทศ นั่นทำให้กะเหรี่ยงอิสระฝังใจกับตาน ฉ่วย มากเป็นพิเศษ

กล่าวกันว่าชีวิตทหารเกณฑ์มีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดชีวิตในเวลาต่อมาของ ตาน ฉ่วย ในทางหนึ่ง ความเครียดจากการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ทหารเกณฑ์ผู้นี้ต้องถูกส่งตัวเข้ารับ การรักษาอาการทางจิตเป็นเวลานานหลายปีในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง

ในอีกทางหนึ่ง ตาน ฉ่วย สร้างชื่อจากการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่เลื่องลือในฐานะผู้ประสบความสำเร็จ สูงส่งตามคำสั่งปฏิบัติการ กวาดล้างคือกวาดล้าง ฆ่าคือฆ่า ไม่มีขาดตกบกพร่องหรือหย่อนยาน มีแต่จะเกินจนเลยเถิดในหลายต่อหลายครั้ง

ถึงตอนที่ครบกำหนดเกณฑ์ทหาร ตาน ฉ่วย ติดยศร้อยเอกพร้อมกับฉายา "ไร้น้ำใจ" อย่างเต็มภาคภูมิ

แน่นอนที่ว่า การใช้ชีวิตเยี่ยงร้อยเอกในกองทัพย่อมดีกว่าการทำหน้าที่เสมียนไปรษณีย์อยู่ อักโข ตาน ฉ่วย ไม่เพียงติดใจในรสชาติของการมีอำนาจอยู่ในมือ แต่ยังคิดไต่เต้าให้ถึงที่สุดดูอีกด้วย

ปี 1962 ร้อยเอกตาน ฉ่วย จึงเข้าร่วมในกองกำลังที่ยึดอำนาจการปกครองของประเทศภายใต้การนำของนายพล เน วิน ที่ทำให้การปกครองประชาธิปไตยหลังได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมของพม่าเกิด ขึ้นชั่วครู่แล้ววูบดับ รางวัลจากการร่วมรัฐประหารหนนั้นก็คือ ยศพันเอกเมื่อปี 1978

ปี 1983 ตาน ฉ่วย ถูกแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้และย่างกุ้ง ปี 1985 เน วิน อวยยศนายทหารใกล้ชิดผู้นี้ขึ้นเป็นพลจัตวา แล้วให้ควบทั้งตำแหน่งรองเสนาธิการทหารร่วม กับรัฐมนตรีช่วยกลาโหมไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ปีถัดมา เน วิน เลื่อนยศเขาขึ้นเป็นพลตรี และมอบที่นั่งในคณะกรรมการกลางในพรรคสังคมนิยมพม่า ที่มีเน วิน เป็นประธานพรรคให้อีกตำแหน่งหนึ่ง

2 ปีหลังจากนั้น เมื่อ นายพลเน วิน ตัดสินใจปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนที่ก่อหวอดประท้วงทั่วประเทศ จนกลายเป็นเหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 อันเลื่องลือ เน วิน จำเป็นต้องลงจากตำแหน่งผู้นำ มอบหมายให้นายพลคู่ใจอย่าง ซอ หม่อง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ตาน ฉ่วย ถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนั้น ด้วยความสามารถเด่นเป็นพิเศษส่วนตัวที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

คือความสามารถในการทำให้ทุกคน "เบื่อ" ได้ถึงขีดสุดจนต้องยอมจำนน


ตาน ฉ่วย ในพิธีสวนสนามของกองทัพ

การเลือกตั้งจอมปลอมที่เกิดขึ้นในปี 1990 ที่พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนาง ออง ซาน ซูจี ได้ชัยชนะถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งทั้งหมด ทำให้กองทัพต้องยึดอำนาจอีกครั้ง

ตาน ฉ่วย "จัดการ" จน นายพล ซอ หม่อง ผู้นำประเทศในเวลานั้น "ล้มป่วยไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้" เพราะเสียจริต เมื่อปี 1992 แล้วก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

เรื่องราวหลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์เลือดร่วมสมัยที่ไม่เพียงพม่าทั้ง ประเทศจดจำได้แม่นยำ แต่โลกทั้งโลกยังจารึกความเป็น "เผด็จการในเผด็จการ" ของนายพลผู้นี้

แต่ทั้งๆ ที่มีชื่อเสียงในทางลบไปทั่วทั้งโลก ตาน ฉ่วย ก็ยังเป็นผู้นำเผด็จการเพียงไม่กี่คนในโลกนี้ที่ซุกตัวสงบเงียบอยู่ในโลกของ ตัวเองชนิดที่น้อยคนนักจะล่วงรู้ นี่คือผู้ปกครองสูงสุดของประเทศประเทศหนึ่งซึ่งไม่มี "ชีวประวัติอย่างเป็นทางการ" เผยแพร่ นี่คือคนที่น้อยครั้งอย่างยิ่งที่จะปรากฏตัวในที่สาธารณะ เว้นเสียแต่กำหนดการของกองทัพและพิธีการทางการอันเป็นกิจวัตรประจำปีเพียง ไม่กี่ครั้งในแต่ละปี

นี่คือผู้นำที่ถูกหวั่นกลัวไปทั่วประเทศ แต่ชาวพม่าเกือบทั้งหมดไม่เคยได้ยินเสียงพูดของตาน ฉ่วย

ข้อเท็จจริงที่กอปรกันขึ้นเป็นตัวตนของตาน ฉ่วย ที่แพร่หลายกันอยู่ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็น "คำบอกเล่า" อีกส่วนหนึ่งเป็น "คำให้การ" และการอนุมานจากสภาพแวดล้อม

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ "ตาน ฉ่วย" ที่โลกรู้จัก หลากหลายบุคลิกอย่างยิ่ง

นักการทูตในย่างกุ้งบางคนบอกเล่าว่า ตาน ฉ่วย เป็นคนทันสมัย ความรู้ภาษาอังกฤษดี นิตยสารที่อ่านประจำคือ "ไทม์ส แมกกาซีน" หนึ่งในกีฬาโปรดคือ กอล์ฟ ไม่ใช่ ฟุตบอล


ในอีกทางหนึ่ง คำบอกเล่าของหลายต่อหลายคน รวมทั้งพฤติกรรมของเจ้าตัวในหลายต่อหลายครั้ง ก็บ่งบอกถึงความเชื่อถือโชคลาง เชื่อหมอดู โหราจารย์ประจำตัวตาน ฉ่วย เป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผอมเกร็ง ที่รู้จักกันทั่วพม่าในนาม "อีที" คนที่ผู้นำเผด็จการพม่าแนะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปขอ "คำแนะนำ" เมื่อครั้งเยือนพม่าอย่างเป็นทางการตอนยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ครั้งหนึ่ง ร่ำลือกันว่า ตาน ฉ่วย ประกอบพิธีอาบเลือดโลมาอิรวดี เพียงเพราะได้รับคำแนะนำจากพ่อหมอแม่หมอว่าจะช่วยดำรงความฉกรรจ์เอาไว้ได้ ยาวนาน

การตัดสินใจในด้านการเมือง การปกครองของประเทศส่วนใหญ่ เป็นไปตาม "คำแนะนำ" ของแม่หมอ หรือ โหร หรือ "คนทรง" อย่างที่ชาวพม่าเรียกว่า "นัต" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของ ดอว์ เจง เจง ภริยาท่านผู้นำอย่างยิ่งยวด


สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็คือคำสั่ง "ย้ายเมืองหลวง" ให้แล้วเสร็จใน "ชั่วข้ามคืน" จากกรุงย่างกุ้งไปยัง "เนปยีดอ" เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับนายพลทั้งหลายบนพื้นที่ตีนเขาในปิ่นมะ นา

เมืองใหม่ที่ชื่อแปลเป็นไทยได้ว่าที่นี่คือสถานที่ของพระราชา

เนปยีดอ คือ "ราชาสถาน" ของ ตาน ฉ่วย นั่นเอง

โลกของตาน ฉ่วย เต็มไปด้วย เงิน ความขัดแย้ง หวาดระแวง การแก่งแย่ง ฉกฉวยโอกาสและอำนาจ แม้จะหรูหรา ร่ำรวย ไร้ขีดจำกัด ชนิดสามารถจัดงานแต่งงานของ ตานดาร์ ฉ่วย บุตรีคนสุดท้องและคนโปรด ด้วยพิธีการและของขวัญคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ ก็ตามที

งานสมรสของ ตานดาร์ ฉ่วย และ พันตรี ซอ โก ซอ ถูกลักลอบถ่ายเป็นวิดีโอนำออกเผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทุกคนได้ประจักษ์ถึงวิถีที่แท้จริงของ ตาน ฉ่วย คนที่ประกาศว่าจะปราบปรามคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก แต่กลับใช้ชีวิตอยู่อย่างหรูหรา ในขณะที่พม่าทั้งประเทศยังข้นแค้นอย่างกว้างขวางและน่าแตกตื่นในความเห็นของ "ยูเอ็นดีพี"

เพื่อรักษาทุกอย่างเอาไว้ รวมถึงชีวิตของตนเองและครอบครัว ตาน ฉ่วย ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

เป็นตาน ฉ่วย ที่จัดการยัดเยียดอาการ "เสียสติ" ให้ ซอ หม่อง เพื่อขึ้นครองอำนาจ แล้วก็เป็น ตาน ฉ่วย ที่บงการให้จับกุมและ "กักบริเวณ" เน วิน ให้อยู่แต่ภายในบ้านพักจนเสียชีวิต เพียงเพราะหวาดระแวงว่านายพลผู้เฒ่าคิดจะหวนมาทวงบัลลังก์แห่งอำนาจกลับคืน

การปราบปรามคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ของ ตาน ฉ่วย เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเพียงเครื่องมือบังหน้าในการจัดการกับ พลเอกขิ่น ยุนต์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นที่ถูกกล่าวหาว่าพยายาม "วัดรอยเท้า"


เล่าลือกันว่า มีความพยามหลายต่อหลายครั้งในการลอบสังหาร ตาน ฉ่วย รัฐประหาร ตาน ฉ่วย แต่ผู้นำเผด็จการผู้นี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งสูงสุดได้จนถึงบัดนี้

เขาอยู่รอดจากการท้าทายครั้งใหญ่ๆ ของประชาชน ที่พยายามรวมตัวกันลุกฮือขึ้นประท้วงไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จนถึงขณะนี้ ทุกอย่างยังคงอยู่ในอำนาจ ยังอยู่ภายใต้ภาวะที่ "บริหารจัดการได้" สำหรับตาน ฉ่วย

แต่ทุกอย่างต้องมีวันสิ้นสุด ปี 2006 ตาน ฉ่วย หายหน้าหายตาไปจากพิธีการและกิจวัตรรายปีของตนเอง จนเป็นที่ร่ำลือกันถึงอาการป่วยรุนแรง เป็นที่รับรู้กันในเวลาต่อมาว่านายพลผู้นี้เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่โรง พยาบาลเจเนอรัล ในสิงคโปร์ ด้วยอาการของโรคมะเร็งในลำไส้

ในโลกของตาน ฉ่วย ไม่มี "แพลน บี" โลกอย่างนี้ไม่มีอะไรสำรอง มีแต่ดุ่มเดินไปข้างหน้า จัดการกับทุกอย่าง ทุกคนที่ขวางจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรง

คำสั่งล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ในเนปยีดอได้รับจากผู้นำสูงสุดของพม่า คือให้ตรวจสอบเข้มงวดกับยานพาหนะที่เดินทางเข้าออกทุกคัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมียววดี

สิ่งที่ต้องมองหาเป็นอันดับแรกคือ อะไรก็ได้ที่สามารถประกอบเป็นระเบิด กับ อะไรก็ตามที่อาจซุกซ่อนอาวุธปืนร้ายแรงแบบ "สไนเปอร์" เข้าไปในเมืองหลวงได้

2010 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบทอดอำนาจ หรือการเริ่มนับถอยหลังไปสู่จุดจบ

โลกกำลังรอสรุปบทเรียนจากจอมเผด็จการ ตาน ฉ่วย ยิ่งนักแล้ว!!

No comments:

Post a Comment